วันพฤหัสวิปโยค เป็นความสงสารที่ท่านอุมัรมีต่อท่านศาสดา ศ. หรือเป็นการล่วงละเมิดฐานะภาพอันสูงส่งของท่านนบี..?!!
- ตัวบทฮะดีษพฤหัสบดีวิปโยค
عَن ابْنِ عَبَّاسٍ قَالَ لَمَّا حُضِرَ رَسُوْلُ اللهِ صَلى الله ُعَلَيْهِ وَسَلَّمَ وَفِي الْبَيْتِ رجَالٌ فِيْهِمْ عُمَرُ بْنُ الخَطَّابِ فَقَالَ النَبِيُ صَلى اللهُ عَليْهِ وَسَلَّمَ هَلُمَّ أَكْتُبْ لَكُمْ كِتَابًا لاَ تَضِلُّوْنَ بَعْدَهُ فَقَالَ عُمَرُ اِنَّ رَسُوْلَ اللهِ صَلى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ قَدْ غَلَبَهُ الوَجْعُ وَعِنْدَكُمُ القُرْآنُ حَسْبُنَا كِتَابُ اللهِ فَاخْتَلَفَ أهْلُ البَيْتِ فَاخْتَصَمُوا فَمِنْهُمْ مَنْ يَقُوْلُ قَرِّبُوا يَكْتُبْ لَكُمْ رَسُوْلُ اللهِ صَلى اللهُ عَليْهِ وَسَلَّمَ كِتَابًا لَنْ تَضِلُّوا بَعْدَهُ وَمِنْهُمْ مَنْ يَقُوْلُ مَاقَالَ عُمَرُ فَلَمَّا أكْثَرُوا اللَغْوَ وَالاخْتِلاَفَ عِنْدَ رَسُوْلِ اللهِ صَلىَ الله ُ عَليْهِ وَسَلّمَ قَالَ رَسُوْلُ اللهِ صَلىَ اللهُ عَليْهِ وَسَلَّمَ قُوْمُوا
อิบนุอับบาส ได้รายงานว่า ตอนใกล้วะฟาตท่านนบี ศ. และในบ้านของท่าน มีศ่อฮาบะฮ์อยู่มากหลาย ในหมู่ศ่อฮาบะฮ์นั้นมีท่านอุมัร บิน ค๊อตต๊อบ อยู่ด้วย ท่านศาสนทูตจึงได้กล่าวว่า จงไปนำเอาที่บันทึกมาให้ฉัน เพื่อฉันจะบันทึกไว้สิ่งหนึ่ง(หากได้บันทึกสิ่งนั้นแล้ว)พวกเจ้าจะได้ไม่หลงทางหลังจากฉันจากไปแล้ว ท่านอุมัรจึงพูดขึ้นว่า แท้จริงความเจ็บป่วยได้ครอบงำท่านรอซูลฯไปเสียเเล้ว !!! อัลกุรอานก็มีอยู่กับพวกท่านแล้ว อัลกุรอานก็เพียงพอแล้วสำหรับพวกเรา กลุ่มคนที่อยู่ในบ้านได้ขัดแย้งกันและถกเถียงกันเอง บางส่วนก็กล่าวว่า เข้าไปหาท่านรอซูลเถอะ เพื่อท่านจะได้จดบันทึกไว้ เพื่อพวกท่านจะได้ไม่หลงหลังจากท่าน ศ. จากไปแล้ว แต่อีกส่วนหนึ่งก็เห็นด้วยกับที่ท่านอุมัรพูด และเมื่อมีเสียงเอ็ดอึงมากขึ้นและมีการขัดแย้งกัน ณ.ที่ท่านรอซูล ท่านรอซูลจึงได้กล่าวว่า “พวกเจ้าจงออกไป” [บันทึกโดยอิหม่ามมุสลิม ฮะดีษเลขที่ 3091]
- ใครเป็นผู้ตั้งชื่อว่า “วันพฤหัสวิปโยค” และเพราะอะไร ?
ท่านอิบนุ อับบาส รฎ. ซึ่งเป็นศ่อฮาบะฮ์ผู้ทรงเกียรติ และเป็นผู้ที่ได้รับความเชื่อถือในหมู่ประชาชาติมุสลิมของทุก ๆมัซฮับ ซึ่งท่านเป็นบุคคลแรกที่ได้กล่าวถึงเหตุการณ์นี้ว่า คือ วันพฤหัสวิปโยค โดยใช้สำนวนว่า
إنَّ الرَّزِيَّةَ كُلَّ الرَّزِيَّةِ
“วิปโยคแห่งมวลวิปโยคทั้งปวง”
หรือสำนวนบันทึกว่า
فَخَرَجَ ابْنُ عَبَّاسٍ یَقُولُ إِنَّ الرَّزِیَّةَ کُلَّ الرَّزِیَّةِ مَا حَالَ بَیْنَ رَسُولِ اللَّهِ صَلَّی اللَّهُ عَلَیْهِ وَسَلَّمَ وَبَیْنَ کِتَابِهِ»[ رواه بخاری]
“แท้จริงในวิปโยคสำหรับมวลวิปโยคทั้งหลายนั้น คือสิ่งขวางกั้นระหว่างการบันทึกพินัยกรรมกับท่านศาสดา ศ.”
ความว่า : ทุกเรื่องราวที่น่าเศร้า(ที่เกิดขึ้นกับประชาชาตินี้)และความแตกแยกต่างๆที่ตามมา จุดเริ่มต้นของมันเริ่มต้นขึ้นในค่ำคืนนี้ เมื่อการจดบันทึกพินัยกรรมกับร่อซูลฯได้ถูกแยกออกจากกัน

- วิเคราะห์เหตุการณ์“พฤหัสบดีวิปโยค” (الرَّزِیَّةَ کُلَّ الرَّزِیَّةِ يَوْمِ الخَمِيس)
ประวัติศาสตร์ได้บอกให้เรารู้ว่าในวันนั้น ท่านอิบนุ อับบาส รฎ. ซึ่งเป็นเซาะฮาบะฮฺผู้ทรงเกียรติ และเป็นผู้ที่ได้รับความเชื่อถือในหมู่ประชาชาติมุสลิมทุกๆมัซฮับ ซึ่งท่านเป็นบุคคลแรกที่ได้กล่าวว่า “วิปโยคแห่งมวลวิปโยคทั้งปวง” และท่านได้พูดประโยคนี้กับบรรดาศอฮาบะฮ์หลายท่านด้วยกัน ประโยคนี้ออกมาจากปากของท่านอิบนุ อับบาส รฎ. ดังนั้น คำว่า “วิปโยคอันยิ่งใหญ่” ที่ท่านอิบนุอับบาสได้พูดถึง คือการยับยั้งการบันทึก พินัยกรรมนั่นเอง
ท่านอิบนุ อับบาสทราบดีถึงความสำคัญขอพินัยกรรม และผลที่จะเกิดขึ้นภายหลัง หากพินัยกรรมของท่านศาสดา ศ. มิได้ถูกบันทึก ดังนั้นจากวันพฤหัสบดีวิปโยคนั้นจนถึงทุกวันนี้ ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ต้นเหตุของความวิปโยคที่ท่านอิบนุอับบาส รฎ. ได้พูดถึงนั้น “เกิดจากการที่ท่านอุมัรได้เข้ามาขวางไม่ให้มีการบันทึกพินัยกรรม เมื่อท่านศาสดา ศ. ได้ร้องขอปากกาและน้ำหมึก” จนเป็นเหตุให้ประชาชาติอิสลามได้มีความขัดแย้งกันจนถึงปัจจุบัน อันเป็นลางร้าย และโศกนาฏกรรมอันยิ่งใหญ่ ที่ท่านอิบนุ อับบาส รฎ. ได้หวั่นวิตกมาโดยตลอด เพราะท่านเห็นถึงความขัดแย้งที่เกิดขึ้นต่อหน้าต่อตาของท่านศาสดา ศ. ขณะมีชีวิตอยู่แล้วหลังจากท่านศาสดาได้จากไปแล้วมันจะมีอะไรเป็นหลักประกันว่าพวกเขาจะไม่ขัดแย้ง และแน่นอนว่าท่านศาสดา ศ. ต้องการหาหลักประกันที่มั่นคงให้กับประชาชาติ เพื่อพวกเขาจะได้ไม่หลงทาง แต่เจตนารมณ์ที่ดีของท่านศาสดาได้ถูกขวางกั้น ผลที่ตามมาก็คือ ประชาชาติอิสลามได้แบ่งออกเป็นกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยดังที่เห็นกันในปัจจุบัน
และที่แปลกไปกว่านั้นก็คือ ทุกๆ กลุ่มต่างอ้างตนว่าเป็นกลุ่มเดียวที่รอดพ้นจากไฟนรก และต่างก็พยายามหาฮะดีษมาอ้างถึงความถูกต้องของตน ขณะเดียวกันได้ปฏิเสธความถูกต้องของคนอื่น พยายามหาเหตุผงมาลบล้างและกล่าวหาว่าคนอื่นผิดและหลงทาง สิ่งนี้ชี้ให้เห็นว่า “พินัยกรรมที่ท่านศาสดาต้องการบันทึกนั้นมีความสำคัญต่อสังคมและวิถีชีวิตของมวลมุสลิมมากน้อยแค่ไหน” ด้วยเหตุนี้เองที่ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ ศ. ได้ตอกย้ำในตอนท้ายของคำสั่งที่ให้นำปากกา กับ น้ำหมึกมา ว่า
هَلُمَّ أكْتُبْ لَكُمْ كِتَابًا لَنْ تَضِلُّوا بَعْدَهُ
จงไปนำกระดาษกับปากกามา เพื่อฉันจะได้บันทึกสิ่งหนึ่ง หากได้บันทึกสิ่งนี้แล้วพวกเจ้าจะไม่หลงทางอีกตลอดไป
ฮะดีษที่กล่าวถึงวันพฤหัสวิปโยค ในหนังสือศ่อฮีบุคคอรีย์ รายงานโดย อุบัยดิลลาฮฺ อิบนิ อับดุลลอฮฺ อิบนิ อุตบะฮ์ อิบนิมัสอูด จากท่านอิบนิอาส ว่า หลังจากที่ท่านได้กล่าวถึงฮะดีษวะซียะฮ์(พินัยกรรม)ท่านได้พูดว่า อิบนุ อับบาสได้กล่าวว่า “แท้จริงในวิปโยคสำหรับมวลวิปโยคทั้งหลายนั้น มีอะไรเป็นสิ่งขวางกั้นระหว่างการบันทึกพินัยกรรมของท่านศาสดา ศ. กับบรรดาเซาะฮาบะฮ์ หรือ ? จนเป็นเหตุทำให้เกิดความขัดแย้ง และโต้เถียงกันอย่างอลหม่าน ใครบ้างที่ไม่รู้ว่าท่านศาสดา ศ. ต้องการสิ่งนั้นเพื่ออะไร ขณะที่พวกเขาได้ขัดขวางท่าน (ถ้าพวกเขาไม่รู้พวกเขาจะขัดขวางท่านเพื่อการใด) ท่านศาสดา ศ. นั้นทราบดีว่าท่านกำลังทำอะไรอยู่ !!
ผู้รู้บางท่านได้ออกมาปกป้องท่านอุมัรโดยให้เหตุผลถึงการขัดขวางของเขา ก็เนื่องจาก อุมัรสงสารท่านนบี ศ. และเป็นห่วงเป็นใยต่อสุขภาพของท่าน ศ. !!!! พวกเขาเขียนไว้ว่าเมื่อท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ได้ล้มป่วยและอาการของท่านหนักขึ้นก่อนที่ท่านจะจากไป ท่านขอกระดาษและน้ำหมึกเพื่อบันทึกสิ่งหนึ่งสำหรับมุสลิมทั้งหลาย ไว้เป็นทางนำแก่พวกเขาหลังจากท่าน แต่ท่านอุมัรฺสงสารท่านศาสดา ศ. จับใจ เลยปฏิเสธคำสั่งของท่าน” ท่านอุมัรฺได้พูดว่า
إنَّ النبيَّ غَلَبَهُ الوَجَعُ وعِنْدَكُمُ القُرْآنُ فَحَسْبُنَا كِتَابُ اللَّهِ
แท้จริงความเจ็บปวด(อาการไข้)ได้ครอบงำท่านเสียแล้ว ณ เรานั้นมีอัล-กุรอานก็เพียงพอแล้ว
เราต้องขอตอบกับกลุ่มคนที่อ้างความสงสารของอุมัร ที่มีต่อท่านนบี ศ. ว่า : ความสงสารที่รู้จักนั้นเป็นสิ่งที่เกิดมาจาก ความรัก ความเมตตา ความเอื้ออาทร และจิตเวทนา มิใช่เกิดจากการล่วงละเมิดฐานะภาพหรือสิทธิของเขาผู้นั้น
การที่ท่านอุมัรฺได้กล่าวว่า “แท้จริงความเจ็บปวด(อาการไข้) ได้ครอบงำท่านเสียแล้ว ณ เรานั้นมีอัล-กุรอาน ก็เพียงพอแล้ว” คำกล่าวเช่นนี้ เป็นความสงสารที่ท่านอุมัร มีต่อท่านศาสดา หรือว่า เป็นการล่วงละเมิดฐานะภาพอันสูงส่งของท่าน และใครที่เห็นด้วยกับท่านอุมัรนั้น ก็เเท่ากับว่าท่านเห็นด้วยกับการขัดขวางการจดพินัยกรรมที่ช่วยให้ประชาชาติอิสลามหลุดพ้นจากความหลงผิด และความแตกแยก ความว่า พินัยกรรมที่ท่านศาสดา ศ. ปรารถนาอย่างยิ่งที่จะบันทึกมัน ก็เพื่อป้องกันและนำพวกเขาออกจากความมืดมนยลตระกาล เข้าสู้ความสว่างไสว แต่พวกเขาได้ปฏิเสธมัน เหมือนกับการฉีกกระดาษและขว้างทิ้ง ดังนั้นหนี้แห่งความเสียหายที่ใหญ่หลวงนี้จะทวงคืนได้จากใคร ผลกระทบและความเสียหายที่ได้เกิดขึ้นกับประชาชาติอิสลามจากวันนั้นจวบจนถึงวันนี้ และไปจนถึงวันอาคิเราะฮ ใครคือผู้รับผิดชอบคำพูดของท่านอุมัร์ถือว่าเป็นการลบลู่และล่วงเกินท่านศาสดา ศ. เนื่องจากท่านอุมัร์ได้พูดว่า
“ انّه يهجر แท้จริงเขาได้หลง(เพ้อ) ”
หรือพูดว่า
غلبه الوجع“ความเจ็บปวดได้ครอบงำเขา”
หรือพูดจาไร้สาระ และคำพูดอื่นๆ ซึ่งคำพูดเหล่านี้ถือว่าเป็น การลบลู่และล่วงเกินท่านศาสดา ศ.
เพราะท่านอุมัรมีหน้าที่อย่างเดียวคือ การปฏิบัติตาม ดังอัล-กุรอานกล่าวว่า
وَأَطِيعُواْ اللّهَ وَأَطِيعُواْ الرَّسُولَ
จงเชื่อฟังปฏิบัติตามอัลลอฮ และจงเชื่อฟังปฏิบัติตามรอซูล
เป็นหน้าที่ของปวงบ่าวทุกคนที่ต้องเชื่อฟังปฏิบัติตามพระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. และศาสดาของพระองค์ และไม่อนุญาตให้เขาเสียงดังเหนือเสียงของท่านศาสดา ศ. ดังโองการอัล-กรุอานกล่าวว่า
يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا لَا تُقَدِّمُوا بَيْنَ يَدَيِ اللَّهِ وَرَسُولِهِ وَاتَّقُوا اللَّهَ إِنَّ اللَّهَ سَمِيعٌ عَلِيمٌ يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا لَا تَرْفَعُوا أَصْوَاتَكُمْ فَوْقَ صَوْتِ النَّبِيِّ وَلَا تَجْهَرُوا لَهُ بِالْقَوْلِ كَجَهْرِ بَعْضِكُمْ لِبَعْضٍ أَن تَحْبَطَ أَعْمَالُكُمْ وَأَنتُمْ لَا تَشْعُرُونَ
“โอ้ บรรดาผู้ศรัทธาชนทั้งหลาย พวกเจ้าอย่าได้กระทำการใดล้ำหน้า เมื่ออยู่ต่อหน้าอัลลอฮฺ และเราะซูลของพระองค์ และพวกเจ้าจงยำเกรงอัลลอฮฺ แท้จริง อัลลอฮฺทรงได้ยินและทรงรอบรู้ โอ้ บรรดาผู้ศรัทธาชนทั้งหลาย พวกเจ้าอย่าได้ขึ้นเสียงของพวกเจ้าเหนือเสียงของท่านศาสดา และอย่าพูดเสียงดังกับเขา (มุฮัมมัด) เยี่ยงการพูดที่พวกเจ้าใช้เรียกกันดังในระหว่างกันและกัน เพราะ (เกรงว่าการกระทำดังกล่าว) จะทำให้ (ผลงาน) ความดีงามของพวกเจ้า ต้องมลายสิ้น โดยพวกเจ้าไม่รู้สึกตัว” (ซูเราะห์ หุจรอต /1-2)
และพระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. ก็ได้ตอกย้ำไว้อีกว่า สิ่งใดที่เป็นคำสั่งของท่านนบี ศ. ก็จงยึดถือไว้ให้มั่น ส่วนสิ่งใดที่ท่านนบี ศ. สั่งห้าม ก็จงออกห่างเสีย
وَمَا آتَاکمُ الرَّسُولُ فَخُذُوهُ وَمَا نَهَاکمْ عَنْهُ فَانتَهُوا
[59:8]สิ่งใดที่ศาสนทูตนำมาให้พวกเจ้า ก็จงรับมันไว้(และปฎิบัติไปตามนั้น)ส่วนสิ่งใดที่เขาได้ห้ามพวกเจ้าก็จงหยุดยั้ง
เมื่อเป็นเช่นนี้ยังเหลือช่องว่างให้ใครคนหนึ่งคนใดได้คั้นค้านท่านนบี ศ. ได้อีกหรือ ?!!!
Leave Your Comments